รับสมัครนักศึกษาใหม่ ภาคเรียนที่ 2/2567 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 1 - 31 ตุลาคม 2567


วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

วันพืชมงคล

#ประวัติ #วันพืชมงคล
พิธีแรกนา หรือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งสุโขทัย ในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เพียงแต่เสด็จฯ ไปเป็นประธานในพระราชพิธีเท่านั้น เมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธาน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

ต่อมา สมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์ และมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง เว้นแต่เมื่อมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร สถานที่ประกอบพิธีในตอนแรก ๆ จึงไม่ตายตัว แล้วแต่จะทรงกำหนดให้ ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น “พระราชพิธีพืชมงคล” จึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”

ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่างตามที่ทรงจำแนกไว้ 3 อย่าง โดย 2 อย่างแรก ที่ว่า “อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง” นั้น ทรงหมายถึง “พิธีพืชมงคล” อันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า “บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง” นั้น ทรงหมายถึงพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ

ดังนั้น จึงพอจะสรุปความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ได้ว่า พิธีแรกนามุ่งหมายที่จะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา อันเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่มีมาแต่ช้านานสืบมาจนปัจจุบันยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้น เป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย

ส่วนวันประกอบพิธีนั้น ต้องเป็นวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้น แรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝน เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนา เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้กำหนดไว้ว่าวันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่เดิมมาทำที่ทุ่งนาพญาไท เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ทั้งนี้ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ 1 วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ

#วันพืชมงคล พิธีแรกนาขวัญ
วันพืชมงคล 2563 ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรม 5 ค่ำ เดือน 6 แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปี 2563 นี้จะปรับรูปแบบการจัดพิธีโดยจะประกอบพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าว และประกอบพิธีไถหว่านในแปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา ในวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2563

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เผยแพร่กำหนดการและรายละเอียดพระราชพิธีผ่านทางเว็บไซต์พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดอาราธนาให้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเสด็จไปทรงเป็นประธานในการประกอบพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ในวันอาทิตย์ ที่ 10 พฤษภาคม 2563 โดย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

#ความสำคัญวันพืชมงคล

เมื่อกล่าวถึงพระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทั้ง 2 พิธีนี้มีความสำคัญแยกกัน ดังนี้

พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญพืชพรรณธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของทั้งข้าว และพืชจำพวกงา มีพระสงฆ์มากระทำพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์พืช ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง

ปีนี้จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดอาราธนาให้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เพื่อประกอบพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานเนื่องในวันพืชมงคล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชประเพณีที่องค์พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้นำพิธี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรที่หวั่นภยันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเพาะปลูกให้มีศรัทธาและมั่นใจ ด้วยการบวงสรวงเทวดา ด้วยพิธีเสี่ยงทายทำนายความสมบูรณ์ของปริมาณน้ำ สภาพดินฟ้าอากาศ

เกษตรกรส่วนหนึ่งจึงถือเอาวันพืชมงคล คือ วันเริ่มต้นฤกษ์หว่านไถ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีมาแต่อดีต แต่เว้นไปในช่วงปี พ.ศ. 2479 - 2503 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปีสืบมามิได้ขาด

#วันพืชมงคล เป็นงานใหญ่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแม่งาน และจะคัดเลือกผู้ร่วมพิธีหว่านไถตามความเหมาะสม ดังนี้

พระยาแรกนา มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทาย และดำเนินการกระทำพิธีหว่านไถ

เทพีคู่หาบทอง และเทพีคู่หาบเงิน คัดเลือกจากข้าราชการหญิงในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป ที่มีสถานะโสด

พระโคแรกนา กรมปศุสัตว์เป็นผู้คัดเลือกพระโคที่มีลักษณะดีตามเกณฑ์พระโคแรกนาขวัญ มีกิริยามารยาทเรียบร้อย สอนง่าย มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง จำนวน 2 คู่

คันไถ คันไถไม้สมอ ประกอบด้วยชุดคันไถ แอกเทียมพระโค ฐานรอง และธงสามชาย ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สร้างถวายให้เป็นคันไถประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พันธุ์ข้าวพระราชทาน เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปลูกในโครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา 5 สายพันธุ์

สัตยาธิษฐาน การเสี่ยงทาย ทำนายความสมบูรณ์ของปริมาณน้ำฝน และการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ จากผ้านุ่งของพระยาแรกนา และอาหารของพระโค ดังนี้

ผ้านุ่งของพระยาแรกนา พระยาแรกนาต้องตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งจากพานโตก โดยเป็นผ้าลาย 3 ผืน มีความหมายตามขนาดของผ้า

ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำมาก นาในที่ดอนได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำพอดี ข้าวกล้าในนาได้ผลสมบูรณ์ ผลาหาร มังสาหารอุดมสมบูรณ์
ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ดอนเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

#อาหารพระโค พระโคจะเลือกอาหาร 7 อย่าง มีคำทำนาย ดังนี้

ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
ในปี 2563 นี้ กรมการข้าวได้บรรจุข้าวพันธุ์พระราชทาน บรรจุใส่ซองพลาสติกเพื่อแจกจ่ายเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป

ที่มา : พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น